เรียนชีวเคมี biochemistry จบแล้วทำงานอะไร?

Posted: 20/06/2024

หลายคนคงสงสัยใช่ไหม? … ว่าชีวเคมีคืออะไร สาขานี้เรียนเกี่ยวกับอะไร จบมาแล้วจะทำอะไร และนักชีวเคมีมีบทบาทในแวดวงต่างๆ ยังไงบ้าง … ลองมาไขข้อข้องใจในบทความนี้กันดู แล้วจะรู้ว่านักชีวเคมี มีทางเลือกมากมายหลากหลายกว่าที่เราคิดอีกนะ

ชีวเคมีคืออะไร?

ชีวเคมี (Biochemistry) ก็คือศาสตร์การศึกษาเกี่ยวกับเคมีในสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นองค์ประกอบภายในเซลล์ ภายในร่างกาย ในระดับสารชีวโมเลกุลต่างๆ อย่างโปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต และกรดนิวคลีอิก โดยการศึกษาในสาขาชีวเคมีนั้น จะครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาโครงสร้างระดับโมเลกุลของสารพวกนี้ การเปลี่ยนแปรรูปจากสารหนึ่งไปยังอีกสารหนึ่ง ซึ่งเราเรียกกันว่า “เมตาบอลิซึม” ไปจนถึงการถ่ายโอนพลังงานในร่างกายหรือระหว่างร่างกายกับสิ่งแวดล้อม ไล่เลยไปถึงกระบวนการที่ควบคุมกลไกเหล่านี้เพื่อให้ร่างกายเราอยู่ในภาวะสมดุลและเป็นปกติ

ตัวอย่างเช่น เมื่อเรากินอาหารเข้าไป สารอาหารที่ได้ก็จะถูกเปลี่ยนรูปไปเป็นพลังงานภายในเซลล์ ผ่านการกระตุ้นของเอนไซม์ต่างๆ ทำให้ร่างกายเราทำงานได้ตามปกติ แต่ถ้ากระบวนการดังกล่าวมีข้อผิดพลาดที่จุดใดจุดหนึ่ง เช่น เซลล์มีสารพันธุกรรมหรือยีนส์ที่ผิดปกติ ก็จะเกิดการสร้างโปรตีนที่ผิดปกติออกมาด้วย ทำให้กลไกต่างๆ ที่ว่ามาแปรปรวนและเกิดเป็นโรคได้ ซึ่งการศึกษาความปกติและไม่ปกติของกระบวนเหล่านี้นี่แหละ ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญของชีวเคมี

การเรียนหลักสูตรชีวเคมีในมหาวิทยาลัย จะเริ่มตั้งแต่การเรียนวิชาชีววิทยาและเคมีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงวิชาชีวเคมีขั้นสูง และการประยุกต์ใช้ความรู้กับเทคนิคขั้น advanced ต่างๆ อย่างการปรับปรุงตัดแต่งพันธุกรรม หรือการคิดค้นสูตรยาใหม่ๆ ซึ่งการเรียนก็จะเน้นทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ที่เราเรียกว่าการทำ lab นั่นเอง

บทบาทของนักชีวเคมี

ทักษะความรู้ของนักชีวเคมีนั้นมีบทบาทสำคัญในหลากหลายแวดวง ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์การแพทย์ การเกษตร และอุตสาหกรรมอาหาร

  • บทบาทด้านการแพทย์: เราสามารถใช้ความรู้ทางชีวเคมีในการอธิบายกลไกต่างๆ ภายในร่างกาย เช่น การย่อยอาหาร การเผาผลาญสารอาหาร การหายใจ รวมถึงใช้ข้อมูลและเทคนิคในทางชีวเคมีมาวินิจฉัยและรักษาโรคต่างๆ ได้มากมาย อย่างเช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง หรือโรคทางพันธุกรรม อย่างธาลัสซีเมีย อีกทั้งยังนำความรู้มาใช้คิดค้นสูตรยาใหม่ได้อีกด้วย
  • บทบาทด้านการเกษตร: เราอาจใช้ความรู้ทางชีวเคมีมาศึกษากระบวนการต่างๆ ของพืชพรรณการเกษตร ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืชให้ได้ผลผลิตดีขึ้น ทนแล้ง ทนโรคได้มากกว่าเดิม อีกทั้งยังสามารถพัฒนาวิธีการกำจัดศัตรูพืชใหม่ๆ ที่ได้ผลดีและปลอดภัยกว่าเก่าด้วย
  • บทบาทด้านอุตสาหกรรมอาหาร: อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่ม ล้วนต้องอาศัยความรู้ทางชีวเคมีในการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการผลิตอาหารกระป๋อง การผลิตเหล้าเบียร์สูตรต่างๆ จากการหมัก และการพัฒนา packaging ที่เหมาะกับอาหารแต่ละชนิด

เรียนจบชีวเคมี biochem ทำงานอะไรได้บ้าง?

ทุกวันนี้มีสายงานที่รองรับคนจบหลักสูตรชีวเคมีอยู่มากมายหลายอาชีพทีเดียว ยกตัวอย่างเช่น

  • นักวิจัยด้านชีวเคมี: มีหน้าที่วางแผนและดำเนินงานวิจัยเรื่องต่างๆ ซึ่งสถานที่ทำงานหลักๆ ก็ได้แก่ ห้อง lab ของโรงพยาบาล มหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัยของรัฐและเอกชน โดยนักวิจัยอาจแบ่งแยกย่อยเป็นสาขาต่างๆ ได้อีก เช่น ด้านการแพทย์ ด้าน Molecular biology หรือด้านนาโนเทคโนโลยี ซึ่งต้องอาศัยทักษะขั้นสูงทั้งในด้านความรู้และการปฏิบัติงาน
  • นักเคมีวิเคราะห์: ส่วนใหญ่จะเน้นทำงานตามโรงงานอุตสาหกรรมอาหารและยา โดยมีหน้าที่วิเคราะห์และตรวจหาสารต่างๆ ที่อยู่ในผลิตภัณฑ์ เช่น ตรวจสารปนเปื้อนในอาหาร วิเคราะห์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่ม หรือคำนวณสารประกอบในสูตรยา เป็นต้น ซึ่งจะเน้นทักษะด้านปฏิบัติการและความปลอดภัยเป็นพิเศษ
  • นักชีวเคมีทางการแพทย์: จะทำงานในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ หรือห้องเวชศาสตร์ชันสูตรของโรงพยาบาลเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหน้าที่หลักก็คือการตรวจสารตัวอย่างเพื่อช่วยวินิจฉัยและรักษาโรค เช่น ตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในทางเดินหายใจ เป็นต้น ซึ่งคนในสายงานนี้อาจจำเป็นต้องเรียนต่อด้านชีวเคมีทางการแพทย์โดยเฉพาะด้วย
  • นักวิเคราะห์ด้านนิติวิทยาศาสตร์: มีหน้าที่ใช้ความรู้ด้านชีวเคมีเพื่อตรวจสารตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การตรวจหาสารเสพติดในเลือดผู้ต้องสงสัย หรือตรวจหา DNA จากคราบเลือดและเส้นผม เพื่อเป็นหลักฐานในคดีอาชญากรรม ซึ่งคนที่สนใจงานด้านนี้ก็อาจต้องเรียนต่อด้านนิติวิทยาศาสตร์โดยตรงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ก็ยังมีอาชีพอื่นๆ อีกมากมายที่คนจบสายชีวเคมีสามารถทำได้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น นักวิเคราะห์ด้านพิษวิทยาและเภสัชวิทยา ผู้ช่วยวิจัยทางคลินิก หรือจะเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอกเพื่อมาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย หรือนักวิจัยระดับ Post Doc ก็ได้ ขึ้นอยู่กับความสนใจและการต่อยอดทักษะต่างๆ ของเราเอง

ทักษะที่นักชีวเคมีพึงมี

  • ความรู้ด้านชีวเคมีตั้งแต่ระดับโมเลกุลและโครงสร้างในเชิงลึก
  • ทักษะการใช้เครื่องมือในห้องปฏิบัติการ หรือการทำ lab
  • ความเข้าใจในกระบวนการทางชีวเคมีที่ซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆ
  • ความเข้าใจในหลักการของเทคนิคขั้นสูงที่เกี่ยวข้องกับชีวเคมี เช่น การทำ PCR การเพาะเลี้ยงเซลล์ และการตัดต่อยีนส์ในเซลล์
  • มีทักษะด้านการวิจัย สืบค้น รวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์
  • มีทักษะอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น การสังเกต ความละเอียดรอบคอบ การแก้ปัญหา การตั้งคำถาม และการคิดเชิงวิพากษ์

  • แชร์บทความนี้